http://www.komchadluek.com/komchadluek/ent/2004/apr/19/14.phpการ์ดเกมฝีมือคนไทย หลายมิติ บนโลกสี่เหลี่ยมหากไม่ได้คลุกคลีวัฒนธรรมการละเล่นของเด็กยุคใหม่สักเท่าใด ถ้าแรกเห็นการ์ดเกมยี่ห้อ ซัมมอเนอร์ มาสเตอร์ หรือ เอสเอ็มเอ็ม (Summoner Master) อาจคิดว่า ลวดลายพลิ้วไหวสวยงามของ ตัวการ์ตูนบนการ์ด คงเป็นสินค้าที่สั่งตรงมาจากประเทศญี่ปุ่น
และถ้าหาก พรผล รักษ์บุญยวง กับเพื่อนผองทีม ฟีโนมีนอน ปาร์ตี้ ปล่อยให้การ์ดเกมจากสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ทำหน้าที่โกยเงินบาทต่อไป การ์ดเกมฝีไม้ลายมือคนไทยล้วนชุดนี้ ก็คงไม่ได้ขึ้นแท่นเป็นขวัญใจเด็กไทย แถมกำลังจะก้าวไป ถอนทุนคืนจากอเมริกาและ ออสเตรเลียในอนาคตอันใกล้นี้อีกต่างหาก "เมื่อปีที่แล้ว อเมริกามาเห็นการแข่งขันการ์ดเกม ที่ผมจัด เขาตื่นเต้น ที่เด็กไทยให้ความสนใจกันเยอะมาก เลยอยาก เปิดตลาด เพิ่มขึ้น ส่วนทางออสเตรเลีย ซึ่งกำลังบูม เรื่องการ์ดเกมการ์ตูนญี่ปุ่น เมื่อเราเอางานไปเสนอเขาจึงให้ความสนใจ" พรผล หรือ "พี่ปอ" ของน้องๆ แฟนการ์ดเกมบอกเล่า
เมื่อก่อนมีเพียงการ์ดเกมจากอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้น เป็นสองทางเลือกราคาแพง หนุ่มปอได้ย้อนความให้ฟัง ว่าความคิดจะสร้างสรรค์การ์ดเกมฉบับไทยๆ จึงมีมาตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปี 3 คณะนิเทศศิลป์ โดยได้ร่างขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่กฎกติกา เนื้อหา และตัวการ์ด และภายในระยะเวลาสองปี การ์ดเกมภายใต้ชื่อ "ซัมมอเนอร์ มาสเตอร์" ที่ทีมงานของเขาพัฒนาคิดค้น ก็สามารถตีตลาดการ์ดเกมอเมริกาและญี่ปุ่นในไทย ได้สำเร็จ จนในปัจจุบันเขาต้องขยายกิจการเป็น บริษัท ซานโตนีโน จำกัด ด้วยวัยเพียง 23 ปี ในฐานะกรรมการผู้จัดการ
ด้วยหัวใจการเล่นสำคัญของการ์ดเกม คือการวิเคราะห์ วางแผน ทำนองเดียวกับหมากรุก หรือหมากล้อม โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่เด็กๆ หนุ่มปอจึงเลือกจะตั้งกฎการเล่นที่จำลองจากชีวิตจริงสอดแทรกไปให้เด็กเรียนรู้ ด้วยเนื้อเรื่องเกี่ยวกับโลกแฟนตาซี ที่ว่าด้วยตำนานสงครามสี่ดินแดน อันเป็นต้นกำเนิดจากธรรมชาติ เป็นอาณาจักรธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ
อาจกล่าวได้ว่า บนโลกแผ่นกระดาษการ์ตูนสีสวย เนื้อหาซับซ้อนนี้ เขาเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลก ก็คงจะไม่ผิดนัก
"ผมมองโลกเป็นนิยายสงคราม แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มเจ้าหญิงที่เป็นคนใจดี คอยช่วยพวกที่ตกระกำลำบาก และพวกพ่อค้าขายอาวุธ ซึ่งจะมีผลต่อการสอนเด็กด้วย แม้กระทั่งประเทศที่แห้งแล้งเป็นทะเลทรายที่มาบุกรุกราน เราก็ใส่ความมีเหตุผลไปว่าเขาลำบาก ไม่มีจะกิน เขาเลยต้องมาหาถิ่นที่ดีกว่า ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลกันหมด"
โลกของซัมมอเนอร์ มาสเตอร์ จึงเป็นตัวแทนโลกแห่งความจริงที่เด็กๆ จะต้องไปพบเจอในอนาคต โดยพลังที่ระบุไว้ในเกมคือกุญแจสำคัญให้รู้จักเด็กเปรียบเทียบวางแผน
"เด็กจะมีพลังค่าร่าย หรือที่เรียกว่า เมจิกพอยต์ เพื่อเรียกการ์ดแต่ละใบ เปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับการเป็นค่าจ้าง การจะให้ตัวละครแต่ละตัวออกมาต้องเสียค่าจ้าง ตัวไหนเก่งมากก็เสียค่าจ้างมาก ตัวไหนเก่งน้อยก็เสียค่าจ้างน้อย ดังนั้นเมื่อคุณมีทรัพยากรเท่ากัน คุณก็เลือกได้ว่า จะเลือกเอาคนเก่งๆ ค่าจ้างแพง หรือเก่งน้อยหน่อย ค่าจ้างถูก แต่จ้างได้หลายคน เด็กจะต้องเป็นคนตัดสินใจว่าเกมจะเป็นไปอย่างไร
...พูดง่ายๆ มันเปรียบเทียบกับโลกของความเป็นจริง เงินสองหมื่นบาท คุณจ้างเด็กปริญญาตรีได้สองคน หรือจะจ้างปริญญาโทคนเดียว ก็ไม่มีใครผิดใครถูก" ปอเปรียบเทียบให้เห็นภาพ
ไม่เพียงแต่การให้บทบาทกับตัวละครจากแผ่นกระดาษเพื่อสอนน้องๆ เท่านั้น ในชีวิตจริง บางครั้งเขาก็ยังต้องรับหน้าที่ให้คำปรึกษากับเด็กๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องเกม และเรื่องอื่นๆ ที่ปอบอกว่ามีมาหมดทุกเรื่อง นับเป็นความยินดีที่เด็กให้การยอมรับตัวเขาและเกม ของเขา ดังนั้น ก้าวต่อไปก็คือการพยายามทำให้ผู้ปกครองเข้าใจถึงรูปแบบเกม ว่าไม่ได้ทำให้เด็กเสียหาย
กีฬาแบบนี้จะจัดอยู่ในประเภทเดียวกับหมากรุก โกะ ต่างประเทศยังบอกว่าจะช่วยฝึกฝนจิตใจหัวสมองคนเล่น เคยมีคนมาทักว่า ทำไมเด็กที่เล่นส่วนใหญ่ถึงเป็นคนใส่แว่น ผมเลยขอบอกไว้เลย ถ้าเล่นซัมมอเนอร์เนี่ย ถ้าไม่ฉลาด ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องมีสติปัญญา ต้องคิดก่อนเล่นแล้ว ว่าจะจัดสมดุลกองทัพอย่างไร จึงจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ เด็กที่เล่นก็เลยจะเป็นเด็กเรียนทั้งนั้น"
ปอ ย้ำและทิ้งท้ายไว้ว่า ข้อดีของการ์ดเกมอีกอย่างคือ การฝึกเข้าสังคม เพราะจะต้องเล่นอย่างน้อยสองคนขึ้นไป ขณะที่เกมคอมพิวเตอร์ เปรียบไปก็คล้ายเล่นกับสิ่งไม่มีชีวิต
"เกมคอมพิวเตอร์สามารถทำให้ตัวคุณเป็นอีกแบบหนึ่ง โกรธ ก็ด่าออกมาเลย เพราะอยู่ตัวคนเดียว แต่การ์ดเกมต้องนั่งเผชิญหน้า เพราะฉะนั้นคุณต้องสุภาพ และมีมารยาททางสังคม"