จากมติชน
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11307 มติชนรายวัน
จากโคนต้นมะขามถึงจอทีวี กลยุทธแบบ...ไม่ต้อง "ดู" ก็รู้
แค่ได้ยินเรื่องที่ หมอกฤษฎ์-ศุกฤษฎ์ ปทุมศรีวิโรจน์ ฟ้องกลับ ลีเดีย-ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิธาดา และ แมทธิว ดีน เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท และฟ้อง นางศันสนีย์ วิสุทธิธาดา แม่ของลิเดีย อีก 100 ล้านบาท หลายคนคงงง ทั้งยังแปลกใจ เพราะนึกไม่ถึง ที่อยู่ๆ คนถูกฟ้อง และเคยออกมาขอโทษทั้งน้ำตาจะกลับลำทำอย่างนี้
แต่นี่คงไม่ใช่เรื่องแปลกใจเรื่องเดียวที่เกิดขึ้น
เพราะดูจากตัวเลข "ค่าเสียหาย" ที่ฝ่ายหมอกฤษฎ์เรียกไว้ 100 ล้านบาท ให้เหตุผลว่าเป็นตัวเลขที่ประเมินมูลค่าความเสียหาย จากสิ่งที่หมอกฤษฎ์ควรจะได้ แต่แล้วก็กลับไม่ได้ หลังชื่อเสียงเสียหายจากเหตุการณ์ "ลิเดีย-หมอกฤษฎ์" อันลือลั่น โดยแยกเป็นค่าเสียหายจากการถูกบอกเลิกสัญญาจ้างกับบริษัท สามารถ มัลติมิเดีย ซึ่งให้บริการข้อมูลการทำนายดวงชะตาผ่านสื่อต่างๆ มูลค่า 5 ล้านบาทเศษ การงดทำนายโชคชะตาทางโทรศัพท์ แบบออดิโอแทกซ์ ซึ่งควรจะได้รับส่วนแบ่ง กว่า 7,800,000 บาท การถูกบอกเลิกการจ้างเป็นพิธีกรในงานเปิดตัวสินค้า, การออกรายการโทรทัศน์หลายรายการ รวมทั้งการขาดรายได้จากการขายหนังสือ พ็อคเก็ตบุ๊ก "กฤษฎ์คอนเฟิร์ม หมอดูจอมอหังการ" นั้นแล้ว หลายคนคงอดใจไม่ไหว ต้องอุทานเสียงดังไปในทางเดียวกันว่า รายได้ของหมอดูมากขนาดนี้เชียวหรือ
ถ้าพูดโดยภาพรวมซึ่งอ้างอิงข้อมูลของบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ที่สำรวจเรื่องคนไทยกับการใช้บริการหมอดูมาหลายปีต่อเนื่องกัน ก็เห็นจะต้องยอมรับว่ารายได้ของหมอดูน่ะมากจริง เพราะตัวเลขที่สะพัดอยู่ในวงจรนี้แต่ละปีก็อยู่ในระดับหลายพันล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ว่าเศรษฐกิจจะรุ่งเรืองหรือซบเซา คนไทยส่วนหนึ่งซึ่งต้องเผชิญกับภาวะบีบคั้นจะพยายามหาทางออกให้กับชีวิตและจิตใจด้วยการดูหมอ ที่ปรึกษาซึ่งเลือกแล้วตามความศรัทธา
ฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่เรามีหมอดูมากมาย ตั้งแต่ระดับโคนต้นมะขาม ไปจนถึงขึ้นห้าง ระดับที่คิดค่าดู 39 บาท ไปจนที่เคยคิดถึง 1 ล้านบาทต่อครั้ง ได้เห็นหมอดูที่มีอยู่ตามนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ไปจนถึงหมอดูที่อยู่ในรายการวิทยุ โทรทัศน์ และอยู่ในระบบโทรศัพท์
มีหมอดูอยู่ทุกหนทุกแห่ง
และถ้านับเฉพาะค่าหมอดู ตัวเลขของปี 2551 ก็อยู่ที่ 1,850 ล้านบาท
ส่วนใครจะได้ไปมาก ไปน้อย ก็แล้วแต่ว่า "จะถูกเลือก" หรือไม่ โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลในการเลือกหมอดูนั้น โดยเฉลี่ยแล้วกว่าร้อยละ 50 เลือกเพราะได้รับคำแนะนำจากเพื่อนหรือญาติ กว่าร้อยละ 30 เลือกเพราะได้ยินชื่อเสียงของหมอดู ซึ่งในส่วนของชื่อเสียงนี้มีแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
ด้วยเหตุนี้การตลาดจึงถูกหมอดูบางคนนำเข้ามาใช้ในการสร้างชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเอกลักษณ์อันไม่เหมือนใคร การสร้างแบรนด์ผ่านการใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกรายการโทรทัศน์ ให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ เพื่อทำตนให้เป็นที่รู้จัก เป็นคนดัง
แต่อยู่ๆ จะเป็นคนดังที่สื่อต้องการตัวคงยาก หมอดูบางรายจึงใช้วิธีการหยิบยกสถานการณ์ที่กำลังเป็นกระแสมาวิเคราะห์และทำนาย และใครจะรู้ว่าการที่บางคนนำดวงของดารามาทำนาย "ตามที่สื่อขอ" แบบที่กล่าวอ้างกัน ก็อาจจะมาจากเหตุผลที่ว่านั้นก็ได้
เพราะเมื่อทำนายบ่อยๆ พูดถึงพวกในเรื่องที่แฟนๆ อยากรู้ ทำนองคนนี้กับแฟนคนนั้นน่ะยังไงก็ต้องเลิกกัน หรืออะไรก็ตามแต่ ชื่อเสียงของหมอดูก็ย่อมเป็นที่รู้จัก
กลายเป็นหมอดูที่มีชื่อเสียง ชื่อเสียงซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลในการเลือกดู
เป็นหมอดูที่ค่าตัวขึ้นในพริบตา จากค่าดูครั้งละไม่แพง เป็น 2,500-3,000 บาท/ครั้ง ต่อการตอบคำถามไม่กี่คำถาม แถมกว่าจะได้ถามก็ต้องจองโดยจ่ายเงินล่วงหน้านานถึง 3 เดือน!!!
ไม่นับถึงรายได้จากสิ่งอื่นๆ ที่จะตามมาประสาคนดัง นั่นคือ การได้ออกโทรทัศน์ รับเชิญไปตามงานแถลงข่าว การเล่าเรื่องราวของชีวิตผ่านหนังสือ ซึ่งล้วนแต่เป็นเงิน
ฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ต่อๆ ไป เราคงเห็นหมอดูมาทำนายดวงของดาราและนำออกเผยแพร่โดยเจ้าตัวไม่ได้ร้องขอ
แหม,ก็ผลของมันน่ะ เห็นๆ อยู่!!!
มุมคนถูก "ดู"
สำหรับ หยาดทิพย์ ราชปาล ใครจะมาฟันธง-คอนเฟิร์มอย่างไร ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเธอ เพราะถือเป็นอีกความคิดที่รับฟังแบบไม่คิดมาก มองซะว่าอาชีพใครอาชีพมันก็แล้วกัน
ด้าน อั๋น-วิทยา วสุไกรไพศาล มองว่าจะดูดวงใครก็น่าจะแจ้งกับเจ้าตัวสักนิด ไม่ใช่แจ้งกับสาธารณะแทน รึถ้าหวังว่าจะเกิดประโยชน์กับตัวเอง ก็ควรหาวิธีให้พอเหมาะพอดี
ขณะที่ทั้ง ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ และ โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ก็คิดกันคือ เข้าใจดีว่านั่นคืองานของหมอดู แต่ก็ควรเคารพสิทธิส่วนตัวกันบ้าง
เอ๊ะ-อิศริยา สายสนั่น ฟังแล้วก็พยักหน้าเห็นด้วย ก่อนเสริมว่าอะไรที่ทำนายแล้วคิดว่าอีกฝ่ายน่าจะเดือดร้อน ก็ไม่ควรพูดให้สาธารณะรู้ เพราะว่า...
"นั่นอาจจะเป็นการทำลายชีวิตคนอื่นทางอ้อม"
ส่วนความคิดตาหนู
เข้าใจพลิกวิกฤตเป็นโอกาสน่ะ (แต่เลวมาก)