+++ อ.สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 2534 ถึงแก่กรรมแล้ว +++โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 สิงหาคม 2552
ขอไว้อาลัยกับการจากไปของ อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2534 ที่ถึงแก่กรรมจากอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2552 เวลาประมาณ 22.45 น. ณ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค ขณะอายุได้ 84 ปี
จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ อาจารย์สวัสดิ์ ในวันที่ 6 สิงหาคม เวลา 17.30 น. ณ ศาลา 7 วัดมกุฏกษัตริยาราม และมีพิธีสวด พระอภิธรรมศพ เป็นเวลา 5 วัน หลังจากนั้นทางญาติและครอบครัวจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล และดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพ
ประวัติ....อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข
อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2468 ที่กรุงเทพมหาคร สำเร็จการศึกษา ระดับ ป.ป.ช. จากโรงเรียนเพาะช่าง กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2485 อนุปริญญาศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2488 ต่อมา ได้ไปศึกษาต่อด้านจิตรกรรมในต่างประเทศที่สถาบันศิลปะแห่งกรุงโรม ประเทศอิตาลี (Academy of Fine Arts, Rome) และได้รับประกาศนียบัตรจิตรกรรม เมื่อ พ.ศ. 2513
หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์สวัสดิ์ ได้รับราชการในตำแหน่งช่างตรีในแผนกหัตถศิลป์ กองสถาปัตยกรรม ในกรมศิลปากร ต่อมา ได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกกลาง ในสังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2497 อีก 7 ปี ต่อมา คือ ในปี พ.ศ. 2504 เลื่อนเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนช่างศิลป์ กรมศิลปากร และดำรงตำแหน่งอยู่ถึง 14 ปี จากนั้นจึงได้รับการเลื่อนชั้นเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์ในกรม ศิลปากร ดำรงตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2528 ในตำแหน่งช่างศิลป์ระดับ 9
รางวัลที่เคยได้รับ
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง (จิตรกรรม) การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน (จิตรกรรม) การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน (จิตรกรรม) การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 4
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง (จิตรกรรม) การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 5
- รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1เหรียญทอง (จิตรกรรม) การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 6
- รางวัลเหรียญทอง การประกวดภาพเขียน เมืองราเวนา อิตาลี
- รางวัลที่ 1 การประกวดภาพเขียนของมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรม อิตาลี
- รางวัลที่ 1 ประเภทสีน้ำ การประกวดภาพเขียน ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- รางวัลที่ 2 การแสดงศิลปะนานาชาติ กรุงไซง่อน ประเทศเวียดนามใต้
- รางวัลจากงานมหกรรมศิลปะ ณ เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส
เกียรติคุณที่ได้รับ
- ศิลปินชั้นเยี่ยม (สาขาจิตรกรรม) จาก การแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2498
- ศิลปินดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2527
- ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
- ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวิจิตรศิลป์
- ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิจิตรศิลป์
บั้นปลายชีวิต
แม้จะอยู่ในวัยของผู้สูงอายุ อาจารย์สวัสดิ์ ยังคงมีความสนใจและมีบทบาทในวงการศิลปะอยู่อย่างสม่ำเสมอ ยังคงเป็นสมาชิกสมาคมจิตรกรรมสีน้ำอาเซียนและสมาคมศิลปะในประเทศ ยังคงเข้าร่วมประชุมราชบัณฑิตยสถานเดือนละ 2 ครั้ง และนำเสนอบทความที่น่าสนใจหรือสิ่งที่ค้นพบจากการค้นค้าววิจัยต่อที่ประชุม สำนักศิลปกรรม
China Town in New York, 1992
In the Morning Sataheep, 1994
ความตอนหนึ่งของ อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ที่มีต่อธรรมชาติและศิลปะ เมื่อครั้งได้รับเชิญไปเป็นองค์ปาฐก ในงานปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2538
" ผมรักธรรมชาติ งานศิลปะที่ผมสร้างสรรค์ขึ้น ได้รับความบันดาลใจ จากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ธรรมชาติมีชีวิต ความงาม และให้ความรู้สึก หลากหลาย เมื่อเดินทางท่องเที่ยว หรือพักผ่อนสุดสัปดาห์ ผมมักนำเครื่องเขียน ในการปฏิบัติงานจิตรกรรมสีน้ำไปด้วยเสมอ และก็ได้บันทึกชีวิต และความงามของธรรมชาติ เท่าที่เวลาจะอำนวย รู้สึกเป็นสุขที่ได้พักผ่อน และได้ทำงานศิลปะที่ผมรักด้วย
จิตรกรรมสีน้ำมีเสน่ห์เป็นพิเศษ การปฏิบัติต้องตัดสินใจแน่นอน ฉับพลันในการแสดงออก เหมาะกับอุปนิสัยของผม และผมก็ได้ปฏิบัติต่อเนื่อง มาเป็นระยะเวลานานพอสมควร มีความสุขเมื่อได้เล่นสีต่าง ๆ ลงบนกระดาษ โดยเฉพาะ การเขียนภาพวิว ทิวทัศน์ วัด ทะเลในฤดูฝน ท้องฟ้าไม่เรียบ เหมือนในฤดูร้อน มีเมฆปกคลุมอยู่โดยทั่วไป ก่อนฝนจะตกท้องฟ้าจะมืด มีสีหนักเข้ม แต่ไม่นานนักสีเริ่มจางลง แล้วจึงมีเม็ดฝนตกลงมาเป็นสาย ๆ เนื่องจากลมพัด หลายครั้งผมลงมือระบายสี ตั้งแต่มืดฝน ละอองฝนตกลงมาน้อย ๆ ในรูป ผมต้องประคองแฟ้มกระดาษที่เขียน ไม่ให้ละอองฝน ตกลงมากไป
หลายครั้งตัวผมเปียกด้วยละอองฝน แต่ได้ผลจากงานจิตรกรรมสีน้ำนั้น อย่างไม่คาดคิด เมื่องานเสร็จสิ้นลง ละอองฝนทำให้เกิดเป็นดอก ดวง เป็นจุดน้อย ๆ ในภาพดูนุ่ม ชุ่มฉ่ำ เมื่อนำไปเข้ากรอบและติดตั้งแสดงแล้ว ความรู้สึกในภาพนั้นดูเหมือนยังเปียกอยู่ ผมดีใจที่เทวดาพระพิรุณ ท่านได้ช่วยผมเขียนด้วย ยากที่เทคนิคการปฏิบัติงานจิตรกรรม ด้วยสีอื่น ๆ จะกระทำได้"
Cherry Blossom, 1988
Cloudy, 1987