วันที่ 16 พฤษภาคม 2552 06:00
กฏเหล็กโลกไซเบอร์ : "มารยาทน่ะมีไหม!?"โดย : เอกรัตน์ สาธุธรรม
เมื่อ 2-3 วันก่อน เครือข่ายพลเมืองเน็ต นำโดยเอ็นจีโอด้านสื่ออย่าง "สุภิญญา กลางณรงค์" จัดสัมนาหัวข้อ "กติกาพลเมืองชาวเน็ต" ที่คนไซเบอร์ส่วนใหญ่อาจยังไม่ทราบว่าโลกที่ได้ชื่อว่า "อิสระ เสรี เหนือสิ่งอื่นใด" ก็ยังต้องมี "กติกา" ที่คนไซเบอร์น่าจะลองทำความเข้าใจกันสักนิด
ภายในงานได้ยกบทความทางวิชาการต่างประเทศจาก
http://www.albion.com/netiquette/corerules.html คัดลอกจากหนังสือ มารยาทเน็ต (Netiquette) โดย "เวอร์จิเนีย เชีย" ที่แปล และเรียบเรียงโดย "สฤณี อาชวานันทกุล" หนึ่งในผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต บทความนี้ พูดถึงมารยาทบนเน็ต 10 ข้อที่คนบนโลกไซเบอร์ควรทราบ...
มารยาทเน็ต (netiquette) คือ กิริยาอาการที่พึงประพฤติปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มารยาทเน็ตคือชุดวิธีประพฤติตนที่เหมาะสมเมื่อคุณใช้อินเทอร์เน็ตกฏข้อแรก "อย่าลืมว่าคุณกำลังติดต่อกับคนที่มีตัวตนจริงๆ" ก่อนส่งอีเมล หรือโพสต์ข้อความอะไรบนอินเทอร์เน็ต คุณต้องถามตัวเองว่า ถ้าเจอกันต่อหน้าคุณจะพูดแบบนี้กับเขาหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ก็จงแก้ข้อความนั้นแล้วอ่านใหม่อีกครั้ง ทำแบบนี้ซ้ำๆ จนรู้สึกว่าไม่ลำบากใจที่จะพูดแบบนี้กับใครแล้วจึงค่อยส่ง
กฎข้อที่สอง "การสื่อสารออนไลน์ให้ยึดมาตรฐานความประพฤติเดียวกับการสื่อสารในชีวิตจริง" ในชีวิตจริง คนส่วนใหญ่มักจะเคารพกฎหมาย เพราะกลัวโดนจับ แต่ในโลกอินเทอร์เน็ต โอกาสถูกจับมีน้อย ก็เลยปฏิบัติต่อกันโดยมีมาตรฐานทางศีลธรรมต่ำกว่าในโลกจริง ถ้าอยากทำอะไรผิดกฎหมายในไซเบอร์สเปซ สิ่งที่คุณกำลังจะทำนั้นก็น่าจะผิดด้วย
กฎข้อที่สาม "รู้ว่าคุณอยู่ที่ไหนในไซเบอร์สเปซ" การกระทำอะไรก็ตามอาจเป็นเรื่องยอมรับได้ในที่หนึ่ง แต่ถ้าเป็นที่อื่นอาจจะไม่ใช่ ลองใช้เวลาสักพักสังเกตการณ์ก่อนว่า ที่นั่นเขาคุยอะไรกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างไร หรือเข้าไปอ่านข้อความเก่าๆ จากนั้นค่อยเข้าไปมีส่วนร่วมกับเขา
กฎข้อที่สี่ เคารพเวลาและการใช้แบนด์วิธ ปัจจุบันดูเหมือนคนจะมีเวลาน้อยลงกว่าที่เคยเป็นมามากนัก เมื่อคุณส่งอีเมลหรือโพสต์ข้อความลงเน็ต รู้ไว้ว่าคุณกำลังทำให้คนอื่นเสียเวลามาอ่าน ดังนั้นเป็นความรับผิดชอบที่คุณควรแน่ใจก่อนส่ง ว่าข้อความหรืออีเมลนั้นไม่ทำให้ผู้รับเสียเวลา
"สำหรับกระดานสนทนา" ผู้ที่เข้ามาอ่านกระดานแบบนี้ส่วนใหญ่นั่งแช่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไปอยู่แล้ว ไม่มีใครชอบหรอกถ้าต้องเสียเวลาทำทั้งหมดนั้นแล้วพบว่า ไม่เห็นจะคุ้มค่าเวลาที่เสียไปเลย หากจะส่งข้อมูลอะไรไปให้ใคร ลองถามตัวเองดูก่อนว่าเขาจำเป็นจะต้องรู้เรื่องในอีเมลนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ ก็อย่าส่ง ถ้าอาจจะอยากรู้ ก็ทบทวนก่อนส่ง
กฎข้อที่ห้า "ทำให้ตัวเองดูดีเวลาออนไลน์" โลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนโลกจริง คนที่สื่อสารกันในนั้นอยากให้คนอื่นชอบ แต่คุณไม่ต้องถูกตัดสินด้วย สีผิว, สีตา, สีผม, น้ำหนัก, อายุ หรือการแต่งตัวของคุณ คุณจะถูกตัดสินผ่านคุณภาพของสิ่งที่คุณเขียน ดังนั้น การสะกดคำให้ถูกและเขียนให้ตรงตามหลักไวยากรณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรรู้ว่าตัวเองกำลังพูดอะไรอยู่ และพูดอย่างมีเหตุมีผล
กฎข้อที่หก "แบ่งปันความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ" จุดแข็งของไซเบอร์สเปซ คือ มีผู้เชี่ยวชาญมากมายที่อ่านคำถามบนอินเทอร์เน็ต และถึงแม้ว่าจะมีส่วนน้อยมากในจำนวนนั้นที่ตอบคำถาม ความรู้โดยรวมของโลกก็เพิ่มขึ้นอยู่ดี แม้ว่ามารยาทเน็ตจะมีข้อห้ามยาวเหยียด คุณก็มีความรู้ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น อย่ากลัวที่จะแบ่งปันในสิ่งที่คุณรู้
กฎข้อที่เจ็ด "ช่วยกันควบคุมสงครามการใส่อารมณ์" เวลาที่ต้องการแสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรง ควรรู้จักยับยั้งชั่งใจหรือพยายามควบคุมอารมณ์ให้มาก
กฎข้อที่แปด "เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น" คุณไม่ควรไปเปิดอ่านอีเมลของคนอื่น การไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นไม่ได้เป็นแค่มารยาทเน็ตที่เลวทรามเท่านั้น มันยังอาจทำให้คุณเสียงานด้วย
กฎข้อที่เก้า "อย่าใช้อำนาจในทางไม่สร้างสรรค์" การรู้มากกว่าคนอื่นหรือมีอำนาจมากกว่า ไม่ได้แปลว่าคุณมีสิทธิที่จะเอาเปรียบคนอื่นได้ เช่น ผู้ดูแลระบบไม่ควรอ่านอีเมลส่วนตัวของคนอื่น
กฎข้อที่สิบ "ให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น" ทุกคนเคยเป็นมือใหม่มาก่อน บางคนจึงทำผิดพลาดในแง่มารยาทเน็ต จงใจเย็นเข้าไว้ ถ้าคุณตัดสินใจจะบอกคนที่ทำผิดมารยาทเน็ต ก็จงบอกอย่างสุภาพและเป็นส่วนตัว ดีกว่าไปป่าวประกาศให้คนอื่นรับรู้ด้วย จงให้โอกาสในความไม่รู้ของคน การประณามว่าผู้อื่นไม่มีมารยาทตรงๆ ก็มักจะเป็นตัวอย่างของมารยาทที่ไม่ดีเช่นกัน
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/it/20090516/42592/%E0%B8%81%E0%B8%8F%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C-:-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1!-.html